ชาวปารีสเฮ เมื่อรัฐร่วมกับเอกชนจ่ายเงินให้ปั่น ลดมลพิษเสริมสร้างสุขภาพ

เหล่านักปั่นสองล้อบ้านเราที่ฟันฝ่าหาเส้นทางบนถนนที่คราครำ่ด้วยรถยนต์พร้อมเผชิญกับกลุ่มควันพิษคงจะ(แอบ)อิจฉาในปริมาณสูงสุดระดับ 8.8 เมื่อได้อ่านบทความที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้ นั่นก็คือมาตรการใหม่จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เฟรดเดอริค คูวิลเยียร์ ที่กำลังทดลองมาตราการจ่ายเงินให้กับผู้ขับขี่จักรยานเดินทางไป-กลับจากบ้านและที่ทำงานจำนวน 10,000 คน ในอัตรา 25 เซ็นต์(ยูโร) หรือประมาณ 11 บาทต่อทุกๆ หนึ่งกิโลเมตร โดยความร่วมมือกับบริษัทและสถาบันต่างๆ กว่า 20 แห่ง (ถ้าบ้านกับที่ทำงานห่างกัน 5 กิโลเมตร เราจะได้เงินทั้งสิ้น 55×2 = 110 บาท/วัน) ทั้งนี้ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือผ่านมาตราการการลดหย่อนภาษีกับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการนี้ หลังจากที่เคยทำมาแล้วกับการกระตุ้นให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการขับรถยนต์ส่วนตัว

การขับขี่จักรยานนอกจากจะช่วยให้ปริมาณรถบนท้องถนนน้อยลงแล้ว ยังช่วยให้ปัญหามลพิษทางอากาศลดปริมาณลงด้วย ที่สำคัญนักปั่นแต่ละท่านก็จะมีสุขภาพกายที่แข็งแรงจากการออกกำลังกายทุกวัน ปัจจุบันชาวเมืองปารีสขับรถจักรยานไปทำงานเพียงแค่ 2.4% โดยภาครัฐตั้งเป้าเติบโตในเฟสแรกที่ตัวเลข 50% จากเดิม ถ้าสำเร็จตามเป้าหมายก็จะวางแผนขยายพื้นที่ไปในส่วนต่างๆ ของประเทศให้มากขึ้น

แต่ใช่ว่าประเทศฝรั่งเศสจะเป็นประเทศแรกที่เริ่มตื่นตัวกับการใช้รถจักรยานเป็นยานพาหนะทางเลือก ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เช่น เบลเยี่ยม ได้ออกมาตราการภาษี 0% มาแล้วกว่า 5 ปี สำหรับการซื้อขายจักรยาน กระตุ้นให้มีผู้ขับขี่รถจักรยานเดินทางไป-กลับ 8% ของคนทำงานทั้งหมด ในขณะที่ประเทศเนเธอร์แลนด์มีคนใช้จักรยานเดินทางไป-กลับที่ทำงานสูงถึง 25% นอกจากนี้ที่เมืองบาเซโลน่า ลอนดอน และสตอคโฮล์ม ได้ออกโครงการจักรยานสาธารณะให้เช่าเท่าที่ขับ โดยดูตัวอย่างจากความสำเร็จจากโครงการ Velib Model ในกรุงปารีส และนี่อีกหนึ่งแนวคิดที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้สังคมและสิ่งแวดล้อมเติบโตควบคู่ด้วยกันอย่างยั่งยืน

ปล. อ่านจบปุ๊บ อนุญาตให้นักปั่นกรี๊ด 10 ครั้งตามสเกลของความอิจฉานะครับผม

[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=0vRWuKVuiHs” width=”600″ height=”350″]

อ้างอิง : Reuters, Inhabitat, Richard Tulloch