เมื่อ MUJI จับสินค้าเข้าฟิตเนส ลดหุ่น 20% เพื่อโลก เพื่อเรา

เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 เปรียบเสมือนกับสัญญาณเตือนภัยขนาดใหญ่ ที่ส่งข้อความตอกย้ำให้เราคำนึงถึงภัยธรรมชาติอันเกิดจากสมดุลย์ของโลกที่เปลี่ยนไปโดยฝีมือมนุษย์จากการใช้ทรัพยากรอย่างไร้คุณค่าและบริโภคสินค้าเกินความจำเป็น แม้ว่าหัวใจของการออกแบบสินค้าภายใต้แบรนด์ MUJI จะให้ความสำคัญในเรื่องของ Minimalist ในทุกผลิตภัณฑ์แล้ว แต่ 1 ขวบปีจากมหันตภัยได้กระตุ้นให้ MUJI ทำการบ้านอย่างหนักมากขึ้นเพื่อผลิตสินค้าที่นอกจากจะตอบสนองการใช้งานได้ครบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ยังต้องใส่ใจกับคุณภาพชีวิตของสังคมและโลกใบนี้ด้วย และนี่คือที่มาของนิทรรศการ The Product Fitness 80  – จับสินค้าเข้าฟิตเนสลดวัสดุในการผลิต พร้อมๆ กับลดการใช้พลังงานลง 20% ที่ Design Museum กรุงลอนดอน

มาดูตัวอย่างสินค้าที่ผ่านคลาสฟิตเนสกันนะครับ ชิ้นแรกเป็นเก้าอี้โซฟา ที่มองดูเผินๆ ก็เหมือนกับเก้าอี้ทั่วไป แต่เก้าอี้ตัวนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงขบวนการผลิต โดยใช้วิธีขึ้นรูปจากการผสมโพลียูรีเทนโฟม ฉีดเข้าไปใน Mould แล้วรอให้ฟูขึ้นรูปเซทตัวในแม่พิมพ์ วิธีนี้ช่วยลดการใช้วัสดุอย่างมากเมื่อเทียบกับการขึ้นรูปในวิธีเดิม

ชิ้นที่สองเป็นฝาปิดกะทะ ตามทฤษฎียิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว แต่คราวนี้ MUJI จับได้ถึง 5 เพราะฝาชิ้นนี้สามารถใช้ได้กับกะทะที่มีขนาดแตกต่างกันถึง 5 ขนาด ประหยัดพื้นที่ในการเก็บแถมประหยัดเงินในกระเป๋าของคุณได้อีก

ชิ้นที่สามเป็นกระดาษชำระที่ลดขนาดความกว้างลง แต่ยังสามารถใช้งานได้เหมือนเดิม นอกจากจะช่วยลดปริมาณวัสดุที่ใช้ในการผลิตกระดาษแล้ว ยังช่วยลดปริมาณวัสดุที่ใช้ในการผลิตที่แขวนทิชชูด้วย

นอกเหนือจากสินค้าทั้งสามชิ้นที่กล่าวมาแล้ว ยังมีขวดโลชั่นที่ลดปริมาณการใช้พลาสติกในการผลิตขวด ก้านสำลีปั่นหูที่ลดขนาดความยาวลง กาวติดกระเบื้อง (The Gold Lacquer Rice Bowl) สำหรับใช้ซ่อมแซมกระเบื้องให้มีอายุการใช้งานที่ยืนยาวมากขึ้น เทปกาวที่ลดขนาดความกว้างของเทปลง เป็นต้น

MUJI ได้สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจในการใช้ทรัพยากรอย่างพอเพียงและเหมาะสม เพราะสินค้าที่ประหยัดพลังงานได้อย่างสูงสุดในวันนี้อาจจะ ‘ไม่’ ในวันข้างหน้า ดังนั้นการเรียนรู้และคิดค้นหาหนทางในการลดปริมาณการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างต่อเนื่อง จึงกลายเป็นวัฒนธรรมที่ฝังลึกในการผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ MUJI



อ้างอิง : Design Museum, NOTCOT